ประเด็นร้อน

'โรงเรียน' จุดแก้โกง หรือ จุดเริ่มโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 16,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ลงมือสู้โกง : โดย นันท์วดี แดงอรุณ


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเรื่องการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชน แห่งหนึ่งนั้นเป็นที่สนใจและทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย บ้างก็เห็นด้วยที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีอิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ บ้างก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องความเป็นระเบียบวินัย เรื่องค่าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันกันแต่งตัวในหมู่นักเรียน ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวมีแนวทางว่าการใส่ชุดนักเรียนที่เหมือนกันนั้นจะช่วยสร้างความเท่าเทียม และผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายได้

 

ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย จากการศึกษาเรื่อง "ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย" ของ รศ.ดร.ชัยยุทธ์ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2556 พบว่า เฉพาะค่าเครื่องแบบนักเรียน ทั้งในส่วนของรัฐบาลและที่ ผู้ปกครองต้องจ่ายนั้นอยู่ที่ ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงเกิดคำถามงบประมาณนี้ คือความสิ้นเปลืองหรือไม่ และหากยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนแล้วจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณได้หรือไม่

 

ในประเด็นนี้ ศูนย์ข้อมูลข่าว TCIJ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความสิ้นเปลืองของค่าใช้จ่าย ด้านเครื่องแบบนักเรียนที่เกิดจากระบบงบประมาณ เนื่องจาก งบประมาณของโรงเรียนนั้นจะถูกคิดเป็นรายหัว งบประมาณจึงเพิ่มขึ้นแบบแปรผันตามจำนวนนักเรียน ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งถึงกับใช้วิธีปรับเปลี่ยนชุดนักเรียนให้สวยงามเพื่อดึงดูดให้เด็กเข้ามา เรียน ส่งผลให้ผู้ปกครองของนักเรียนปัจจุบันในโรงเรียนนั้นต้องซื้อชุดใหม่ทั้งๆ ที่ชุดเดิมยังใช้การได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จค่าเครื่องแบบมาเบิกกับโรงเรียนได้ ดังนั้นต่อให้ชุดเดิมยังใช้ได้ผู้ปกครองก็อยากจะเปลี่ยนใหม่ หรือบางครั้งไม่มีการตรวจสอบว่าใบเสร็จที่นำมาเบิกนั้น ซื้อเครื่องแบบนักเรียนมาจริง หรือไม่ เพราะโรงเรียนเองต้องการแค่ ใบเสร็จไปยืนยันเพื่อขอเบิกงบเท่านั้น

 

นอกจากความสิ้นเปลืองในการใช้งบประมาณอย่างไม่ คุ้มค่าแล้ว ยังมีการทุจริตจัดซื้อชุดนักเรียนที่เคยเกิดเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2559 ขององค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยมีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่เกินจำนวนสะสมมาเป็นเวลา 10 ปี จำนวนถึง 5 แสนชุด มูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากการทุจริตจะส่งผลต่องบประมาณแผ่นดินแล้ว การทุจริตงบประมาณการจัดซื้อชุดนักเรียนในบางที่นั้นก็ส่งผลถึงตัวนักเรียนเองด้วย เนื่องจากมีการจัดซื้อชุดนักเรียนที่ไม่มีคุณภาพมาแจกจ่ายให้กับนักเรียน

 

ปัญหาการทุจริตในสถานศึกษา ซึ่งที่จริงแล้วควรเป็นจุดเริ่มต้น "แก้โกง" ที่ดีในการหล่อหลอมเยาวชนให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้มีการทุจริตเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อชุดนักเรียนเพียงเท่านั้น แต่จากผลการศึกษา "แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตในสถานศึกษาและการสร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี ที่ไม่คดโกง" ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อปี 2556 พบว่าสถานศึกษากลายเป็น "จุดเริ่มโกง" จากการวิจัยเชิงปริมาณใน 45 โรงเรียน เกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.08 เคยพบเห็นการทุจริตในสถานศึกษา ซึ่งพฤติกรรมที่พบเห็นมากที่สุด คือ การเบียดบังเวลาราชการเพื่องานอื่น รองลงมาคือการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ ส่วนตน, การเอื้อประโยชน์ต่อ พวกพ้อง, การแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ และประพฤติ มิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ ดังเช่นที่สื่อนำมาเสนอข่าวหลากหลายกรณี เช่น การทุจริตงบประมาณอาหารกลางวันนักเรียน, การทุจริตโครงการนมโรงเรียนที่จัดซื้อนมไม่ได้มาตรฐาน, การทุจริตสนาม เด็กเล่นที่ใช้งบประมารณจัดซื้อแพงกว่าท้องตลาด, การทุจริตทุนการศึกษากองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เสียหายกว่า 88 ล้านบาท, การทุจริตของผู้บริหารสถานศึกษาปลอมชื่อนักเรียนเพื่อโกงงบประมาณมาใช้ ส่วนตัว เป็นต้น

 

ถึงแม้พฤติกรรมการทุจริตในสถานศึกษาจะมีมากเพียงใด แต่การพยายามปลูกฝังเยาวชนผ่านสถานศึกษา และหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติ เป็นพลเมืองที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ก็ยังมีเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน จากความร่วมมือของหลายๆ องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงเกิดเป็นกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการโตไปไม่โกง, โครงการโรงเรียนคุณธรรม, หลักสูตรสุจริตไทย, เกมออนไลน์ เดอะ คอร์รัป, บอร์ดเกมต้านคอร์รัปชัน The Trust รวมทั้งในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดความร่วมมือจากหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ

 

โดยมีแนวทางจากหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในแนวทางใหม่ ที่เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้หลายรูปแบบตามความถนัดและความพร้อมของผู้เรียน รวมทั้งสามารถเข้าถึงสถานศึกษา และประชาชนได้แพร่หลายมากขึ้น เพราะความรับผิดชอบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นพลเมือง ที่ดีนั้น ไม่ใช่หน้าที่เฉพาะโรงเรียนเพียงอย่างเดียว อีกต่อไป แต่ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจกันสั่งสอน อบรม และเป็นแบบอย่างที่ดีจากทั้งครอบครัว ชุมชน และที่สำคัญ สังคมรอบๆ โรงเรียนต้องร่วมเป็นหูเป็นตา ร่วมตรวจสอบสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมให้ "โรงเรียน" เป็นจุดแก้โกง มากกว่า จุดเริ่มโกง แบบที่ผ่านมา

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw